ความรักมีวันหมดอายุเหมือนสับปะรดกระป๋องหรือไม่

ความรักมีวันหมดอายุ
เหมือนสับปะรดกระป๋องหรือไม่
....
ในความรักมีความลับ
ในภาระมีความรัก...
บทสนทนาว่าด้วยหนังสือหนึ่งเล่ม
ที่มีทั้งความลับ ความรัก
และภาระ อยู่ในนั้น

‘ความลับในความรัก’ หาใช่ความรักคือความลับ
‘สมรสและภาระ’ ก็ไม่ได้หมายถึง ภาระเกิดขึ้นด้วยความรัก
‘สมรสกับความลับ’ คือเรื่องราวจากนักเขียนถึงผู้แปล ที่ถ่ายทอดจากจากผู้แปลถึงผู้อ่าน
และชวนให้เราตั้งคำถามให้ลึกเข้าไปในใจตัวเองว่า
เข้าใจ ‘ความรัก’ ดีแล้วหรือ?
.....
เมื่อหนังสือ ‘ความลับในความรัก’ ที่ จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ และนักแปลชื่อดัง เป็นผู้เสนอให้ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์จัดซื้อลิขสิทธิ์และขอแปลเอง ได้เดินทางมาพบกับอัลบั้ม ‘สมรสและภาระ’ บทกวีมีทำนองชุดใหม่ล่าสุดของอพาร์ตเมนต์คุณป้า งาน ‘สมรสกับความลับ’ ระหว่าง จิระนันท์ พิตรปรีชา และ ตุล ไวทูรเกียรติ นักร้องนำแห่งวงอพาร์ตเมนต์คุณป้า จึงได้เกิดขึ้นท่ามกลางบรรยากาศสบายๆ และเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะของบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่สื่อมวลชน และท่านผู้มีเกียรติที่ร่วมเดินทางมาเป็นสักขีพยานในงานเสวนาครั้งนี้ โดยมี สืบสกุล พันธุ์ดี ผู้ประกาศข่าวและพิธีกรรายการโทรทัศน์ ในฐานะตัวแทนบริษัท เคล็ดไทย จำกัด และฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
...
พิธีเริ่มขึ้นเวลา 14.30 น. แต่บทสนทนาระหว่างจิระนันท์และตุล ได้เริ่มขึ้นก่อนหน้านั้นแล้ว ณ มุมสงบใน B2S ชั้น 3 เซ็นทรัลเวิล์ดพลาซ่า โดยมีบทเพลง ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ’ ของตุลขับกล่อมเบาๆ เมื่อแขกเหรื่อเริ่มทยอยเข้าสู่งาน และรับของชำร่วยอันเป็นถุงผ้าแสนน่ารัก ที่พิเศษสุดก็คือ ทะเบียนสมรสแผ่นเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ในถุงผ้า และเว้นช่องว่างไว้ให้เติมชื่อกันเอง พร้อมลายเซ็นของ จิระนันท์ พิตรปรีชา ในฐานะนายทะเบียน
...
ในช่วงเวลานั้นเองที่เราได้เข้าไปไถ่ถามตุล เกี่ยวกับอัลบั้ม ‘สมรสและภาระ’ ถึงที่มาที่ไป และแรงบันดาลใจ “อยากให้มองว่าความรักมันมีหลายด้าน มันไม่ใช่แค่เรื่องสุขอย่างเดียว หรือทุกข์อย่างเดียวเท่านั้น” ตุลบอกเราอีกว่า “ถ้าฟังไปทีละเพลงๆ จะรู้สึกเหมือนได้ดูหนังโรแมนติกคอมเมดี้” เอ.. แปลว่าความรักของตุลมันจะเหมือนกับหนังโรแมนติกคอมเมดี้ด้วยหรือเปล่า เราเก็บคำถามนี้ไว้ในใจ เพราะเชื่อว่าคำตอบคงตามมาเองในการเสวนาที่กำลังจะเริ่มขึ้นในไม่กี่นาทีข้างหน้านี้ “แล้วผมก็เพิ่งซื้อเปียโนมาใหม่ ก็เลยอยากจะแต่งเพลงช้าๆ สบายๆ ดูบ้าง”
....
ไม่นานนัก ผู้ดำเนินรายการก็กล่าวนำเข้าสู่บรรยากาศของการเสวนาแนะนำหนังสือ ‘ความลับในความรัก’ ของจอห์น อาร์มสตรอง นักวิชาการทางด้านสุนทรียศาสตร์ ที่ได้รวบรวมเรื่องราวของความรักในแง่มุมต่างๆ ทฤษฎีต่างมากมาย รวมไปถึงวรรณกรรม และงานศิลปะอันหลากหลาย มาวิเคราะห์สภาพจิตของมนุษย์ และอธิบายถึงเหตุผลของการมีความรักเอาไว้อย่างถึงแก่น
...
เมื่อถึงเวลาอันสมควร จิระนันท์ และ ตุล ก็ปรากฏตัวขึ้นบนเวทีเล็กๆ แห่งนี้ ในฐานะคู่บ่าวสาวจำเป็น และแน่นอนว่าคำถามที่ผู้ดำเนินรายการไม่ถามไม่ได้ก็คือ ทั้งคู่รู้จักกันได้อย่างไร ก็คงนับว่าเป็นเรื่องแปลกพอสมควรที่ทั้งคู่จะมาข้องเกี่ยวกัน หากตุลไม่ได้มีธาตุแห่งความเป็นกวีและมีผลงานรวมเล่มออกมาด้วย คือ ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ‘ และ ‘หลบเวลา‘ ดังนั้น เส้นทางของทั้งสองที่มาพาดผ่านกันได้ จึงกลายเป็นเรื่องที่ไม่น่าแปลกใจมากนัก และจิระนันท์นี่เอง ที่เป็นผู้เขียนคำนิยมให้แก่หนังสือของตุลในเล่ม ‘ไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ‘
...
“ตอนแรกก็คิดว่านี่มันหนังสืออะไรชื่อบ้าๆ แต่พอได้มาอ่านจริงๆ ก็รู้สึกว่าตุลเขียนได้ดีมากๆ อย่างบางทีนักเขียนเขาจะกลัวผู้เชี่ยวชาญภาษา กลัวนักวิจารณ์ แต่ตุลไม่ใช่นักเขียน มันถึงออกมาเป็นธรรมชาติสุดๆ เขายิงทะลุประเด็นความรักโดยไม่ได้ประดิดประดอยอะไรเลย” ทางด้านตุลเองก็กล่าวถึงนักเขียนซีไรต์ผู้นี้ด้วยความนับถือ และชื่นชมไม่น้อย อีกทั้งยังบอกว่านักเขียนรุ่นพี่อย่างจิระนันท์เป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญทีเดียว
..
หลังจากถามไถ่ไล่เรียงกันจนพอหอมปากหอมคอแล้ว จิระนันท์ก็ยกเอางานเขียนพวกฮาวทูที่เห็นกันจนเกร่อ มาเทียบกับงานเขียนของตุล และหนังสือ ‘ความลับในความรัก’ อันเป็นพระเอกของการเสวนาในคราวนี้ว่า “เรื่องทฤษฎีความรักนี่ มันก็ซับซ้อนเหมือนกับงานเขียนของตุลนี่แหละ แต่พวกฮาวทูต่างๆ กลับพูดถึงแต่เรื่องวิธีบริหารเสน่ห์ หรือทำอย่างไรให้เซ็กซี่ ซึ่งมันแสดงว่าคนที่อ่านที่เขียนเรื่องพวกนี้เขาไม่เข้าใจความรักเลย ในขณะที่หนังสือ ‘ความลับในความรัก’ นี้จะนำเรามาสู่จุดเริ่มต้นของความรัก เข้ามาดูในความคิดและในจิตใจ ไม่ใช่ในอวัยวะอย่างอื่น”
...
เรื่องหนังสือฮาวทูนี้คงรบกวนจิตใจของจิระนันท์อยู่ไม่น้อย เพราะนอกจากจุดประสงค์ที่อยากจะให้คนไทยได้อ่านเรื่องราวของความรักในภาษาที่ง่ายๆ แล้ว หนังสือฮาวทูยังเป็นเหตุผลแรกๆ ที่ทำให้เธอเลือกแปลหนังสือเล่มนี้ด้วยเหตุว่า “มันรู้สึกหงุดหงิด หมั่นไส้ เสียอารมณ์ และสลดใจ จากพวกฮาวทูทั้งหลาย ที่บอกว่าคุณต้องทำอย่างนี้ๆ 1, 2, 3… อยากให้หันมาเจาะกะโหลกตัวเองก่อน ว่าทัศนะพื้นฐานเราถูกต้องแล้วหรือยัง ถ้าถูกต้อง ไอ้ 1, 2, 3… มันก็เรื่องของคุณ ไม่ต้องมีใครมาบอก”
...
แต่ก่อนที่บุคคลทั้งสามจะพาผู้เข้าฟังการเสวนาเข้าไปสำรวจสาระของหนังสือ ‘ความลับในความรัก’ นั้น สืบสกุลก็พาเราแวะไปสำรวจความคิดและนิยามความรักของตุล ชายหนุ่มผู้อยู่เบื้องหลัง ‘สมรสและภาระ’ เสียก่อน “พอผมอายุมากขึ้น ก็ได้ไปงานแต่งงานมากขึ้น และก็จะถามตัวเองทุกทีว่าเราพร้อมไหม คือผมมองว่ามันเป็นวัฒนธรรมที่เราสร้างขึ้นในฐานะของสัตว์โลก ไม่ได้มีขึ้นตามธรรมชาติ แต่มันถูกสร้างขึ้นเพื่อเข้าข้างตัวเอง เราทำให้ความรักดูดี ให้รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ต้องเทิดทูน มากกว่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติ” บางคนเริ่มพยักหน้าหงึกหงักทำนองว่ากำลังคิดตาม
...
“ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองมาสักระยะหนึ่งแล้ว ผมมองว่าปัญหาของความรักทุกวันนี้มันเกิดขึ้นเพราะเราพยายามฝืนธรรมชาติของความรักตัวเองมากกว่า ทุกคนพยายามมีผัวเดียวเมียเดียว ซึ่งจริงๆ แล้ว เราอาจจะไม่ใช่สัตว์ที่จะต้องมีผัวเดียวเมียเดียวก็ได้ ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องมาฝืนธรรมชาติตัวเองกันอย่างเป็นหมู่คณะทำไม”
...
พอตุลกล่าวจบ ก็มีเสียงฮือฮามากจากผู้ฟัง บางก็หัวเราะ บ้างก็ไม่เห็นด้วย บ้างก็ด้วยความสะใจเพราะคิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่ใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยอย่างไรก็คงไม่สำคัญ เพราะที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ ทัศนะของตุลได้พุ่งไปสู่ประเด็นสำคัญของหนังสือได้อย่างเข้าเป้าที่สุด นั่นคือการชวนให้เราตั้งคำถามว่าสาระที่แท้จริงของความรัก ที่ไม่ได้ยึดอยู่กับกรอบใดกรอบหนึ่งนั้นคืออะไร พอถึงตรงนี้ จิระนันท์ก็บอกว่า “นี่มันเข้าประเด็นเลยทีเดียว หนังสือเล่มนี้จะมีตอนที่เขาพูดถึงเรื่องทฤษฎีจิตวิทยาวิวัฒนาการ เป็นหลักฐานทางวิชาการมาเลยว่าการรวมกลุ่มกันเป็นครอบครัว หรือเป็นสังคม มันก่อให้เกิดกรอบความคิดอะไรขึ้นมาบ้าง แล้วเราก็คิดตามกรอบนั้น โดยที่เราลืมที่จะใส่อะไรลงไปในกรอบ คือเรามาตะกายหากรอบกันอยู่ แต่จริงๆ แล้วการที่เราจะบรรจุอะไรลงไปในกรอบนั้น อย่างน้อยเราก็ต้องรู้ว่า ความรักคืออะไร”
...
บ้างก็ว่า รัก คือ ลิขิตจากฟ้า
....
หนังสือเล่มนี้ มีเรื่องราวเกี่ยวกับตำนานของความรักที่พยายามจะเติมคำตอบลงในช่องว่างนี้ด้วย สืบสกุล หยิบเอาเรื่องนี้ขึ้นมาตั้งเป็นประเด็นในการสนทนา “อย่างตำนานกรีก ที่บอกว่าคนในยุคนั้นมีสองหน้า สี่มือ สี่เท้า เท่ากับเป็นสองคนรวมกัน ซึ่งก็อาจจะเป็นชายกับชาย หญิงกับหญิง หรือว่าหญิงกับชายก็ได้ เมื่ออยู่ร่วมกันก็จะมีพลังมาก แต่เพราะว่านิสัยไม่ดี ชอบไปเกะกะระรานเทพเจ้า เทพเจ้าเลยผ่าครึ่งซะ แล้วเมื่อโดนผ่าแล้ว ทั้งสองคนก็ต้องตามหากันตลอดชีวิต ผมคิดว่ามันก็เป็นไปได้ที่ปัจจุบัน เรามีหญิงรักหญิง ชายรักชาย หญิงรักชาย ก็คงเป็นเพราะเหตุนี้” ข้อสังเกตของสืบสกุล เรียกเสียงฮือฮากันได้อีกยกหนึ่ง
...
“มันก็คงเพราะว่าความรักเป็นอารมณ์ที่ทรงอานุภาพที่สุดของมนุษย์ เวลาผิดหวังทีก็เกือบตาย มันเป็นปรากฏการณ์ที่เราไม่เข้าใจ และเมื่อไม่เข้าใจเราต้องสร้างตำนานเหล่านี้ขึ้นมา ให้เรายอมรับว่ามันเป็นลิขิต แล้วมันยังมีอีกบทหนึ่งพูดถึงกามเทพที่มีบุคลิกซุกซน กลั่นแกล้ง แล้วก็ไม่เข้าใครออกใคร เพื่ออธิบายว่าบางคนมันสมกับเราจะตาย ทำไมเราไม่รัก ไปรักไอ้บ้าคนนี้” ความดังของเสียงหัวเราะที่เกิดขึ้น ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า สิ่งที่จิระนันท์พูดมานี้ เป็นประสบการณ์ร่วมของใครหลายคนเลยทีเดียว
...
บ้างก็ว่า รัก คือ ความหวาน, บ้างก็ว่า รัก คือ ความขม
...
ไม่แปลกที่ผู้คนส่วนใหญ่มักจะมองว่า ความรักนั้นมีความหวานเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ ในฐานะผู้แปล จิระนันท์บอกไว้ว่า “ความรักแบบโรแมนติก มันแน่นอนว่าไม่มีไม่ได้ ถ้าความรักกลายเป็นเรื่องของเหตุผลล้วนๆ มันก็ไม่ใช่ แต่ที่เราต้องบาดเจ็บปางตาย ก็เพราะเอาแต่คิดในมิติโรแมนติก จนกระทั่งมันลอยขึ้นไปจากความเป็นจริง ยิ่งลอยสูง ตกลงมายิ่งเจ็บ” นี่คือประเด็นสำคัญอันหนึ่งที่ผู้เขียนกล่าวถึง “เขาก็ไม่ได้ถึงกับชำแหละความรักแบบโรแมนติกหรอก แต่เขาบอกว่ามันมีหลายมิติ ซึ่งเรามักจะมองมุมเดียว แล้วมันจะมีปัญหาก็ต่อเมื่อมันหมดช่วงโปรโมชั่นไปแล้ว”
...
ตุลเสริมต่อประเด็นนี้ทันที “มันเป็นช่วงที่ประทับใจที่สุด และเป็นความลุ้นว่าจะสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ แล้วถ้าไม่สำเร็จเนี่ย มันกลับยิ่งโรแมนติกนะ” ก็คงจะจริง เพราะโศกนาฏกรรมของความรักที่ต้องพรากจาก ก็มักจะทำให้ความโรแมนติกคงอยู่ตลอดไป และไม่มีทางจะเบื่อหน่ายกันในภายหลัง ทันทีที่ตุลกล่าวถึงเรื่องนี้ขึ้นมา วงเสวนาเล็กๆ บนเวทีนี้ ก็นำไปสานต่อกันได้อย่างสนุกสนาน เพราะสามารถโยงไปถึงเรื่องโรมิโอแอนด์จูเลียตที่ผู้เขียนกล่าวไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย ว่าถ้าโรมิโอจูเลียตไม่ตายแล้วได้อยู่คู่กันไป โลกก็อาจจะไม่รู้จักตำนานรักโรแมนติกนี้ โรมิโออาจจะไปมีเมียน้อย ขี้เมา แล้วจูเลียตก็อาจจะกลายเป็นยายแก่ขี้บ่น ติดหวยงอมแงม เพราะฉะนั้นตายๆ ไปนั่นแหละดีแล้ว กลายเป็นเรื่องน่าเศร้าที่อดจะเคล้าความฮาไม่ได้จริงๆ “หนังสือเล่มนี้ก็เลยบอกว่าความไม่สมหวังนี่เอง ที่เป็นการคงความโรแมนติกไว้” สืบสกุลกล่าวสรุปประเด็นไว้เช่นนั้น
...
บ้างก็ว่า รัก คือ การเติบโต
...
วุฒิภาวะคือสิ่งสำคัญที่ใครคิดจะมีรักต้องเข้าใจ จิระนันท์ให้ความสำคัญกับบทนี้ของหนังสือมากทีเดียว “ผู้เขียนยกนิยายของตอลสตอยเรื่อง Family Happiness ที่เล่าว่า ตอนก่อนแต่งงานมันก็โรแมนติกเสียจนสุดๆ เลย แต่อยู่ๆ มันก็จืดจางลงทั้งๆ ที่ไม่ได้มีปัญหาอะไรเลย ฝ่ายผู้หญิงก็คิดว่า เขาไม่เหมาะกับฉันแล้ว ฉันต้องการความตื่นเต้น หวือหวา โรแมนติก จนท้ายสุดก็ผ่านไปสู่วุฒิภาวะอีกขั้นหนึ่งของความรักได้ ที่มันไม่ใช่ความโรแมนติกแล้ว แต่มันก็ยังเป็นความรักอยู่นั่นเอง อ่านแล้วก็จะเข้าใจว่า เอ๊ย... ทำไมเขาไม่เอาดอกไม้มาให้เรา ทำไมเขาไม่ร้องเพลงให้เราฟัง แต่ท้ายที่สุดเขาก็ยังรักเราอยู่”
...
ประเด็นนี้ตอบคำถามจากผู้เข้าฟังการเสวนาท่านหนึ่งได้ตรงยิ่งนัก เมื่อมีคำถามขึ้นมาว่า ‘ความรักจะมีวันหมดอายุเหมือนสับปะรดกระป๋องหรือไม่’ ตุลบอกไว้ว่า “ผมว่ามันไม่มีวันหมดอายุครับ แต่มันจะแปรรูปไปอยู่ในภาชนะอื่นมากกว่า” ทางฝั่งจิระนันท์ก็ได้ให้คำตอบไว้ว่า “มันไม่ได้เขียนไว้บนกระป๋องหรอก มันหมดเพราะใจเราต่างหาก เพราะเราไปคาดหวังว่าความรักมันต้องมีอย่างนี้ๆ พอมันไม่เป็นไปตามสิ่งที่เราหวัง มันก็เริ่มขึ้นรา เริ่มบูดในทัศนะของเรา”
...
ต่อคำถามที่โปรยอยู่บนปกหลัง ไม่ว่าจะเป็น การรักใครสักคนหมายถึงอะไร? คู่สร้างคู่สมมีจริงหรือไม่? ทำไมความหลงจึงไม่ใช่ความรัก? อะไรคือรัก อะไรคือหลง? ทำไมการรักคนเลวจึงเป็นเรื่องเสียเวลาเปล่า? จิระนันท์บอกว่า “หนังสือเล่มนี้มันทำให้คนที่ไม่เคยคิดอะไรเลย ได้ตั้งคำถามกับตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดของการอ่าน อะไรก็ตามที่คุณอ่านแล้วต้องทำตาม 1, 2, 3… มันก็ทำลายความเป็นมนุษย์ของเรา เพราะมันจับเราเข้าโรงงานอุตสาหกรรมทางความคิด”
....
สำหรับผู้อ่านอย่างตุล เขาฝากบอกกับทุกๆ คนว่า “มันก็อาจจะไม่ใช่คำตอบว่าความรักคืออะไร แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่า มีคนอื่นๆ มองความรักอย่างไรบ้าง แล้วไม่แน่ว่าคุณเองก็อาจจะเขียนนิยามแบบใหม่ของตัวเองขึ้นมาได้ด้วย และถึงแต่ละคนอาจจะมองความรักไม่เหมือนกัน แต่ว่าเรื่องราวของความรัก มันก็ยังมีอยู่”
...
จิระนันท์กล่าวเสริมแถมท้ายได้อย่างโดนใจ “ยังไม่ต้องไปอ่านหนังสือธรรมะ หรือหลุดพ้น หรือวิธีเอาธรรมะมาให้เหตุผลกับความไม่มีธรรมะของตัวเองหรอก” แน่นอนว่า เรียกเสียง (ฮือ) ฮาได้อีกระลอกใหญ่ “เอาให้รู้จักตัวเองในฐานะมนุษย์เสียก่อน แล้วความรักนี่แหละ คือด่านสำคัญที่เราจะต้องผ่าน เพื่อรู้จักตัวเองให้ดีที่สุด”
...
ยังมีคำถามอีกมากมายเข้าคิวรอให้คู่บ่าวสาวจำเป็นไขข้อสงสัย และเพื่อให้สมกับชื่อหนังสือ ‘ความลับในความรัก’ คำถามหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาก็คือ “ในความรัก ไม่ควรจะมีความลับซึ่งกันและกันใช่หรือไม่?” คำตอบที่ได้จากจิระนันท์นั้นชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง “ก็เพราะฮาวทู 1, 2, 3…นี่แหละที่มันตกม้าตาย เพราะมันจะเต็มไปด้วยการปรุงแต่ง และไม่ใช่ตัวเราเลย”
...
แล้วพอหันไปฟังฝ่ายชายบ้าง ตุลก็เล่าว่า “ผมมีเทคนิคครับ” (พูดพร้อมกับยิ้มแปลกๆ) “เราอาจจะไม่โกหก แต่เราบอกไม่หมด เทคนิคใหม่ในหมู่เพื่อนฝูงของผมก็คือ ให้ทำตัวมีทุกข์ไว้ก่อนเสมอ ถ้ากลับมาบอกว่าเราไปกินเหล้าสนุกอยู่กับเพื่อนมักก็จะตามด้วยการโดนอะไรสักอย่าง แต่ถ้าบอกว่า..” (ทำเสียงเครียดและหน้าสลดในบัดดล) “เนี่ย วันนี้เครียด นายว่า... แฟนเราเขาก็จะบอกว่า โอ๊ย! น่าสงสารจัง เป็นยังไงบ้าง คือเราต้องทำให้ตัวเราเองทุกข์กว่าเขาหน่อยนึง” คำตอบของตุลเล่นเอาสาวใหญ่ สาวน้อยที่ร่วมอยู่ในเสวนานี้แทบหงายหลัง
[มีต่อในฉบับ]
.(..