นิตยสารฟรีฟอร์มฉบับ 15

last up date : June.2009
นิตยสารฟรีฟอร์ม Vol.2 N0. 15
ฉบับ Body and the Dead
เรื่องเด่นในฉบับนี้

ศิลปินคู่เกย์แสบกึ๋น
อ่านเรื่องราวสุดมันส์ ของศิลปินชื่อดัง ไมเคิล เอล์มกรีน และ อิงมาร์ แดรกเสท ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “เกย์ชานเมือง” ที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวางปบบผิดที่ผิดทางจนเป็นที่ฮือฮาสะท้านโลก อย่างเช่นการยกร้านพราด้าไปตั้งกลางทะเลทราย โดยที่ในร้านมีสินค้ายี่ห้อ prada ของแท้ทุกชิ้น จนกระทั่งล่าสุด เขาทั้งคู่เดินทางมาเมืองไทยเพื่อนำโอเรียลเต็ลไปอยู่กลางหัวลำโพง พวกเขาคิดอะไร และทำไปเพื่ออะไร [คลิกอ่านต่อ]

ถอดกางเกงคุยเรื่องไซด์ไลน์ในห้องนอน
กับ ปาล์ม อินสติงค์ “ศิลปะ ดนตรี และเรื่องอย่างว่า”
ตรง แรง จริง และสุดฮา กับศิลปินหนุ่มลุคส์ badboy เจ้าของผลงานภาพวาดชวนอึ้ง “ทะเลนม”

‘ความรักจะมีวันหมดอายุเหมือนสับปะรดกระป๋องหรือไม่’
ความรักครั้งที่เท่าไหร่ ไม่ได้นับ ฟรีฟอร์มชวนคุยเรื่องลับๆ รักๆ แบบไม่รู้จักฉัน ไม่รู้จักเธอ กับจิระนันท์ พิตรปรีชา และตุล ไวฑูรเกียรติ คนที่บอกว่า “ผมว่ามันไม่มีวันหมดอายุครับ แต่มันจะแปรรูปไปอยู่ในภาชนะอื่นมากกว่า” ทางฝั่งจิระนันท์ก็ได้ให้คำตอบไว้ว่า “มันไม่ได้เขียนไว้บนกระป๋องหรอก มันหมดเพราะใจเราต่างหาก เพราะเราไปคาดหวังว่าความรักมันต้องมีอย่างนี้ๆ พอมันไม่เป็นไปตามสิ่งที่เราหวัง มันก็เริ่มขึ้นรา เริ่มบูดในทัศนะของเรา” [คลิกอ่านต่อ]

โจ แซ็คโค – การ์ตูนปาเลสไตน์
เมื่อการ์ตูนเรื่อง “Safe Area Gorazde” ที่สะท้อนภาพชาวมุสลิมในเขตลี้ภัยสงครามล้างเผ่าพันธุ์ของชาวเซิร์บ ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2000 และในปีต่อมา การ์ตูนที่เล่าเรื่องราวของชีวิตในฉนวนกาซ่า ที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์หมักหมมเรื้อรังมานาน ออกสู่สายตาประชาชนผ่านซีรีส์การ์ตูนเรื่อง “Palestine” โลกก็ได้รู้จักกับ โจ แซคโค ด้วยความสามารถในการนำข้อมูลหนักๆ มาเล่าในรูปแบบการ์ตูน อ่านง่าย แต่สามารถอธิบายเรื่องราวและบรรยากาศที่เกิดขึ้นให้เห็นภาพได้อย่างเห็นชัดเจน [คลิกอ่านต่อ]
......
Michael Crichton : Next
คำเตือนสุดท้ายต่อการค้าพันธุกรรมในอนาคตจาก ไมเคิล ไครซ์ตัน
น่าเสียดายที่หลายคนปล่อยให้ตัวเองพลาดหนังสือเล่มหลังๆ ของไมเคิล ไครซ์ตัน มาหลายเล่ม จนกระทั่งได้ข่าวว่าเขาเสียชีวิตในวัย 66 ปีด้วยโรคมะเร็งเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ข่าวร้ายนี้นำพาให้บางคนได้มีโอกาสรู้จัก Next หนังสือเล่มล่าสุดของเขาที่ออกวางจำหน่ายเมื่อปี 2550 รวมถึงได้รับรู้ว่าในวาระสุดท้ายของนักเขียนผู้ฉลาดเฉลียวปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งของโลกคนนี้ นอกจากเขาต้องรับมือกับโรคร้ายในร่างกายตัวเองแล้ว เขายังทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดที่มีไปกับการรณรงค์ต่อสู้เกี่ยวกับการออกกฏหมายสิทธิบัตรพันธุกรรมของสหรัฐอเมริกา ที่ไครซ์ตันบอกว่า “พันธุกรรมเป็นสิ่งที่สืบทอดกันมาตามธรรมชาติ มันมีมานานกว่าล้านปีไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นจึงไม่สามารถเป็นเจ้าของได้”
.......
นิตยสารฟรีฟอร์มฉบับต้อนรับศักราชใหม่ วางจำหน่ายแล้วที่ร้านฟาสเตอร์บุ๊คทุกสถานีรถไฟฟ้า, ร้านซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือติดต่อสั่งซื้อโดยตรงที่สำนักงานฟรีฟอร์ม 22/5 สุขุมวิท 23 คลองเตยเหนือ วัฒนา กรุงเทพฯ 10110 โทร.0-2664-4256-7,08-5664-9612 อีเมล์ freeformthailand@yahoo.com หรือ freeformthailand@hotmail.com




ศิลปินคู่เกย์แสบกึ๋น!

ศิลปินคู่เกย์แสบกึ๋น!
Michael Elmgreen
Ingmar Dragset
ศิลปะผิดที่ผิดทาง
จากพราด้ากลางทะเลทราย
ถึงโอเรียลเต็ลในหัวลำโพง

ปกติคุณจะเจออะไรบ้างในไนท์คลับเกย์กลางทวีปยุโรป? เหล้า เสียงเพลง แสงไฟวิบวับ กล้ามเนื้อหน้าอกล่ำๆ และ.. ศิลปิน? อะไรนะ คุณไม่เคยเจอเหล่าศิลปินในนั้นเลยหรือ บางทีคุณอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าเขาคือศิลปิน หากคุณไม่ได้สนใจเขา และเขาไม่ได้สนใจคุณ แต่สำหรับศิลปินดูโอชาวเกย์คู่นี้ Michael Elmgreen ชาวเดนมาร์ก และ Ingmar Dragset ชาวนอร์เวย์ สนใจกันและกันตั้งแต่แรกพบในไนท์คลับสำหรับชาวเกย์เมื่อราวๆ 12 ปีที่แล้ว แม้จะต่างที่มาและชนชาติ แต่ด้วยรสนิยม (เอ่อ... ทางศิลปะนะ) ที่ใกล้เคียงกัน ทั้งคู่ก็ได้จับมือกันสร้างงานศิลปะอย่างเอาเป็นเอาตาย
....

งานของพวกเขานั้น มักจะเล่นกับกับเรื่องพื้นที่ และปฏิกิริยาของคนต่อพื้นที่ในลักษณะต่างๆ ที่สำคัญ พวกเขายัง ”ดื้อ” ต่อขนบประเพณีบางอย่างของศิลปะด้วย ซึ่งเขาอ้างถึงความเป็นเด็กเกย์ชานเมือง (ทั้งคู่แนะนำตัวเองอย่างนั้น) ที่ได้อ่านเรื่อง โรมิโอแอนด์จูเลียต แล้วไม่รู้ว่าจะจินตนาการตัวเองเป็นใครดี จะเป็นโรมิโอก็ไม่ใช่ จูเลียตก็ไม่เชิง เลยทำให้พวกเขาอดคิดไม่ได้ว่า สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่มันเป็นจริงๆ หรือว่าเราถูกขนบประเพณีบางอย่างทำให้เราคิดว่าเราต้องเป็น และนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่า มันน่าจะมีอะไรอีกหลายอย่างที่มันเป็นไปได้ นอกจากสิ่งที่สังคมมันเป็นอยู่ แล้วเขาก็เลือกกรุงเบอร์ลิน อันเป็นเมืองระดับน้องใหม่ของยุโรปที่ยังคงมีพื้นที่สำหรับงานศิลปะแหกคอกของพวกเขา เป็นที่พำนักพักพิง และถึงแม้จะไม่มีใครมีพื้นฐานการเรียนศิลปะอย่างจริงๆ จังๆ แต่งานของทั้งคู่ก็ได้รับความสนใจไปทั่วโลกแล้ว
...
คู่หูเกย์พลัดถิ่นคู่นี้ ออกโรงแนะนำตัวให้ชาวตะวันตกได้รู้จักตั้งแต่ปี 1995 จากผลงานชุด Powerless Structures ก่อนจะพัฒนาต่อเนื่องออกมาจนเป็นซีรีส์งานศิลปะจัดวางและการแสดงต่อเนื่องหลายชุด โดยตระเวนไปจัดแสดง และ “กระทำกับ” สถานที่หลายแห่งในโลก และไม่นานมานี้เอง ทั้งคู่ก็ดอดข้ามทวีปเอางานมาตั้งโชว์ที่เมืองไทยด้วย
...
งานอันโด่งดังชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่ทั้งสองได้อ่านงานเขียนของ มิเชล ฟูโกต์ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องการควบคุมทางสังคม และไม่เชื่อว่าสิ่งก่อสร้างและสถานที่ต่างๆ จะมีอิทธิพลกับความคิดมนุษย์ได้จริงๆ แต่เชื่อว่ามันอยู่ที่เราจะมองมันอย่างไรมากกว่า ประกอบกับการย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตในกรุงเบอร์ลิน ที่พวกเขาบอกว่ามันยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ย่านเก๋ๆ เกิดใหม่ไม่หยุดหย่อน ไม่มีแกลเลอรี่ไหนครองตำแหน่งสุดยอดได้นาน คลับดีๆ ก็เปลี่ยนเวียนกันครองใจขาเที่ยวไปเรื่อย ความรู้สึกว่าสิ่งก่อสร้างในสถานที่หนึ่งๆ มันไม่ได้มีพลังอำนาจในการกำหนดความคิดของมนุษย์ได้นั้นก็ยิ่งชัดเจน
...
ด้วยความคิดของฟูโกต์ และอิทธิพลจากการอาศัยอยู่ในเมืองที่ไม่เคยนิ่งอย่างกรุงเบอร์ลินนี้เอง ทำให้พวกเขายิ่งอยากรู้ว่า จริงแค่ไหน ว่าสถานที่ต่างๆ เช่น คุก โรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ศิลปะ หรือ สวนสาธารณะได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมทางสังคม แล้วสถานที่ดังกล่าวมันจะเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของเราได้สักเท่าไหร่ แม้ว่างานของพวกเขาดูสนุกสนาน แต่จริงๆ แล้วมันคือการท้าทาย (อย่างหยิกแกมหยอก) ต่อแนวคิดหรือความเชื่อบางชุด แบบแผนทางสถาปัตยกรรม เพศสภาวะ และโครงสร้างทางสังคม
...
วิธีการ “เล่นสนุก” ของพวกเขาก็คือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม สลับที่ หรือทำอะไรก็ตามกับบางสิ่ง (อาจเป็นวัตถุ บุคคล หรือสถานที่) ที่มีความหมายอยู่ในตัวมัน ที่จะทำให้เห็นว่าชัดเจนว่าจริงๆ แล้ว สถานที่เหล่านั้น โดยตัวของมันเองไม่ได้มีอำนาจหรือความหมายอะไรมากมายนักหรอก ถ้าเราไม่ได้เป็นคนให้ความหมายกับมัน งานที่พวกเขาสร้างออกมาจึงมักจะเป็นงานที่ดูขัดหูขัดตาและไม่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคนิคอันหลากหลายมาก ทั้งการใช้คนจริงๆ มาทำการแสดง (performances) การใช้ศิลปะการจัดวาง (installations) หรือการเข้าไปแทรกแซงความลงตัวบางอย่างของสถานที่นั้นๆ (interventions) จนทำให้เกิดรู้สึกว่ามันมีอะไรทะแม่งๆ อยู่ตรงนั้น และอาจถึงกับต้องร้องถามคนแปลกหน้าที่บังเอิญมาเดินอยู่ข้างๆ ว่า “เฮ้ย! ไอ้นี่มันมาอยู่นี่ได้ยังไง” ซึ่งถ้าทั้งคู่เผอิญผ่านมาได้ยิน ก็คงจะร้องตอบออกไปว่า ...ก็อะไรล่ะ ที่ทำให้คุณคิดว่ามันอยู่ตรงนี้ไม่ได้
....
งานที่โด่งดังที่สุดของพวกเขาก็เห็นจะไม่พ้นนิทรรศการถาวร Prada Marfa (2005) ที่ทั้งสองนำร้านเก๋ไก๋ไฮโซอย่าง Prada พร้อมสินค้าของแท้สุดหรู (ส่วนหนึ่งของบรรดารองเท้า และกระเป๋ามากมายในนั้น ได้รับบริจาคมาจาก Miuccia Prada เองเลยโดยตรง) ถูกล็อกปิดตายไว้ด้านใน แล้วนำไปวางอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในแถบทะเลทรายทางตะวันตกของมลรัฐเท็กซัสใกล้ๆเมืองมาร์ฟาอย่างไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ คล้ายๆ กับพายุทอร์นาโดได้หอบร้าน Prada ทั้งร้านออกมาจากใจกลางกรุงนิวยอร์ก แล้วโยนมันลงมาตั้งไว้เฉยๆ ในดินแดนอันห่างไกล ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้คิดอยากจะให้ใครถือบัตรเครดิตเข้าไปซื้อหา Prada สุดหรูจากเมืองทะเลทรายแห่งนี้หรอก เพราะไม่มีประตูไหนของร้านนี้เปิดได้จริง
..........
ถ้าขับรถผ่านมาบนถนนเส้นนี้ตอนกลางคืน ร้าน Prada ขาวสะอาดที่สร้างจากดินเหนียวนี้ ก็จะปรากฏแก่สายตามาแต่ไกล และให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูภาพเซอร์เรียล ที่มีอะไรขัดกันอยู่ในตัวอย่างแรง ระหว่างธรรมชาติที่ดูเหมือนยังคงไร้ร่องรอยการบุกรุกของมนุษย์ และตัวแทนของโลกทุนนิยมสุดขั้วอย่าง Prada แต่ในทางตรงกันข้ามมันก็สื่อได้อีกทางหนึ่งว่า ทั้งธรรมชาติที่บริสุทธิ์ และแฟชั่นต่างก็เป็นสิ่งที่โลกยุคบริโภคนิยมนี้ถวิลหา
[มีต่อในฉบับ]

Agenda - ปฏิทินวัฒนธรรม

ปฏิทินวัฒนธรรม
มิถุนายน-ตุลาคม 2552