โจ แซคโค การ์ตูนปาเลสไตน์

โจ แซคโค
การ์ตูนปาเลสไตน์
...เป็นข่าว...

ตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา นักวาดการ์ตูนจากโลกตะวันตกคนหนึ่ง เดินทางจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง จากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง จากสงครามหนึ่งไปยังอีกสงครามหนึ่ง จนกระทั่งการ์ตูนของเขา...
...เป็นข่าว...
.........
เมื่อการ์ตูนเรื่อง “Safe Area Gorazde” ที่สะท้อนภาพชาวมุสลิมในเขตลี้ภัยสงครามล้างเผ่าพันธุ์ของชาวเซิร์บ ได้รับการตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2000 และในปีต่อมา การ์ตูนที่เล่าเรื่องราวของชีวิตในฉนวนกาซ่า ที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์หมักหมมเรื้อรังมานาน ออกสู่สายตาประชาชนผ่านซีรีส์การ์ตูนเรื่อง “Palestine” โลกก็ได้รู้จักกับ โจ แซคโค (Joe Sacco)
.........
ด้วยความสามารถในการนำข้อมูลหนักๆ มาเล่าในรูปแบบการ์ตูน อ่านง่าย แต่สามารถอธิบายเรื่องราวและบรรยากาศที่เกิดขึ้นให้เห็นภาพได้อย่างเห็นชัดเจน งานของโจจึงเน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง...........
โจ มักจะบอกใครต่อใครว่า “ผมไม่ใช่เหยี่ยวข่าวสงคราม ผมเป็นแค่นักวาดการ์ตูน” ก็ไม่ผิดหรอก โจ เป็น แค่ นักวาดการ์ตูนจริงๆ แต่การ์ตูนของเขานั้นไม่ได้เป็น แค่ การ์ตูน เพราะการ์ตูนของผู้ชายคนนี้ รายงานข่าวเจาะลึกชนิดที่แม้แต่นิตยสาร Times ก็ยังทำไม่ได้
........
“อายุแค่ 6 ชวบ ผมก็วาดการ์ตูนเรื่องแรกในชีวิตแล้ว มันเป็นกิจกรรมยามว่างของผมมาตลอด”
..........
ก็คงคล้ายๆ กับนักวาดการ์ตูนหลายๆ คน ที่ค้นพบว่าตัวเองรักการวาดการ์ตูนมาตั้งแต่ตัวกระจิ๋ว แต่สิ่งที่ทำให้โจแปลกไปกว่าคอการ์ตูนในรุ่นราวคราวเดียวกันก็คือ ความหลงใหลในข่าวคราวของดินแดนตะวันออกกลาง และบริเวณคาบสมุทรบอลข่าน
..........
ด้วยความสนใจพิเศษนี้ บวกกับความที่เป็นคนชอบเล่าเรื่อง เขาจึงเลือกเรียนด้านวารสารศาสตร์ และฝันว่าสักวันหนึ่งเขาจะได้ทำงานเป็นผู้สื่อข่าว แต่แล้วเขากลับต้องทนนั่งทำงานอยู่ที่นิตยสารรายสัปดาห์หัวหนึ่ง ซึ่งตกอยู่ภายใต้ของอิทธิพลเม็ดเงินจากการขายโฆษณาอย่างเต็มๆ เขาทำได้เพียงไม่นานก็ลาออก ด้วยเหตุผลว่า
..........
“ผมไม่ได้เรียนวารสารมาเพื่อทำงานอย่างนี้ ผมเลยเริ่มกลับมาวาดการ์ตูนอีกครั้งเพื่อทำให้ตัวเองมีความสุข ก็ไม่เคยคิดหรอกครับว่าจะมาประกอบอาชีพนักวาดการ์ตูน แต่ผมอยากลองดูว่าผมพอจะเลี้ยงตัวเองจากการวาดการ์ตูนได้ไหม”
............
แต่อย่างไรก็ตาม ความสนใจข่าวสาร และประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง ก็ไม่เคยเลือนหายไปจากใจของนักข่าวการ์ตูนผู้นี้เลย และยิ่งนับวันเขาก็ยิ่งมีความสงสัยว่า เรากำลังบริโภคข่าวสารที่ได้รับการกลั่นกรองมาแล้วอยู่หรือเปล่า ซึ่งนั่นหมายความว่า อาจจะมีความจริงอยู่ไม่ถึงครึ่งในสิ่งที่สำนักข่าวกระแสหลัก (ซึ่งมักจะเป็นสำนักข่าวจากสหรัฐอเมริกา) รายงาน และสิ่งที่เกิดขึ้นจริงระหว่างชาวอิสราเอล และชาวปาเลสไตน์นั้น อาจจะไม่มีใครเคยได้ล่วงรู้เลยก็ได้ ถ้าสำนักข่าวเหล่านั้นไม่ต้องการให้มันเป็นที่รับรู้
.............
“ผมโตมากับความเข้าใจว่าพวกปาเลสไตน์นั้นเป็นพวกก่อการร้าย แต่หลายปีที่ผมเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ และได้พูดคุยกับใครๆ หลายคน ผมก็ตระหนักว่า ปัญหาในดินแดนแถบนี้มันซับซ้อนแค่ไหน และมีความผิดพลาดมากแค่ไหนในการเล่าประวัติศาสตร์”
............
“ผมอยากจะสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง เรื่องของเรื่องคือผมสนใจมันไงครับ ผมอยากไปเห็น”
...........
แต่เห็นแล้วยังไงต่อล่ะ เขาจะทำอะไรได้บ้างกับสิ่งที่เขาสนใจนี้
............
“ใช่สิ ผมเป็นนักวาดการ์ตูน ผมควรจะไปที่ตรงนั้น แล้วใช้ความสามารถด้านหนังสือพิมพ์ที่ผมมีวาดการ์ตูนขึ้นมาสักชุดหนึ่งเพื่อเล่าประสบการณ์ของตัวเอง แต่ตอนนั้นผมยังไม่ได้คิดถึงการวาดการ์ตูนเพื่อรายงานข่าวหรอกครับ มันเป็นแค่เรื่องของนักวาดการ์ตูนคนหนึ่งที่ดันเรียนหนังสือพิมพ์มาเท่านั้นเอง”
............
โจไปเยือนฉนวนกาซ่าช่วงปลายปี 1991 และตั้งใจจะอยู่ที่นั่นให้นานพอที่จะซึมซับความรู้สึกของคนแถบนั้นได้ เพื่อเขียนเรื่องเล่าประสบการณ์ของตัวเองอย่างที่นักการ์ตูนคนอื่นๆ ในยุคนั้นนิยมทำกัน แต่พอไปถึงแล้วจริงๆ วิญญาณนักหนังสือพิมพ์ที่ได้รับการบ่มเพาะมาจากการศึกษาวารสารศาสตร์ก็พุ่งปรี๊ดขึ้นมาทันที
............
“ตอนผมไปปาเลสไตน์ ผมตั้งใจว่าจะวาดการ์ตูนเรื่องของตัวเองนี่แหละ แต่เอาเข้าจริงผมก็ทำข่าวจนได้ ผมออกไปสัมภาษณ์ผู้คน และค้นหาข้อมูลอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง”
..........
การ์ตูนของโจจึงกลายเป็นบันทึกชีวิตของผู้คนในดินแดนนั้น และมีเนื้อหาเหมือนการรายงานข่าวผ่านตัวการ์ตูนมากกว่า
............
แต่การเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ นั้น ก็มักจะเป็นเรื่องยากเสมอ เขาไม่รู้เลยว่าสุดท้ายแล้ว มันจะออกมาเป็นอย่างไร จะมีใครอยากอ่านการ์ตูนของเขาหรือเปล่า ไม่แน่ใจแม้กระทั่งว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ในปาเลสไตน์ ทำให้ตัวเขาที่อยู่ในการ์ตูนนั้นมีบุคลิกที่งงๆ เงอะงะ และน่าขบขันมาก โจบอกว่านั่นเป็นเพราะเขารู้สึกอย่างนั้นจริงๆ
..........
เคยมีคนถามเขาว่า ทำไมเขาต้องวาดตัวเองลงไปด้วยล่ะ
.........
“มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีตัวผมอยู่ในนั้น เพราะมันจากความตั้งใจตั้งแต่ต้นว่าผมจะเขียนเรื่องของตัวเองไงครับ ซึ่งมันก็ออกมาดีตรงที่มันชัดเจนว่า นี่คือสิ่งที่ผมเล่านะ มันเป็นสิ่งที่ผมสงสัย ผมมีความคิดอย่างนี้ แล้วผมก็เขียนมันออกมา และคุณก็กำลังอ่านเรื่องราวเหล่านี้ผ่านตัวผมอยู่ จะว่าไป ตัวผมในนั้นมันก็เกือบจะเป็นเหมือนสรรพนามบุรุษที่หนึ่งในเนื้อเรื่องทีเดียว”
.........
ถึงแม้โจจะบอกว่าตัวเองเป็นนักวาดการ์ตูนมากกว่านักข่าว แต่เขาก็ยืนยันว่าสิ่งที่เขาวาดออกมาให้เราเห็นนั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงทุกอย่าง เขาทำงานหนักไม่แพ้นักข่าวคนอื่นๆ เพียงแต่ว่าสิ่งที่เขาสนใจ และวิธีการนำเสนอนั้น แตกต่างออกไป
...........
“เวลาสัมภาษณ์ชาวบ้าน ผมจะสวมหมวกนักข่าว จดรายละเอียดทุกๆ อย่างลงไปในสมุดโน้ต ทั้งคำพูดและบรรยากาศ แต่เมื่อผมกลับมานั่งที่โต๊ะและเริ่มต้นวาดรูป ผมก็จะใช้ด้านที่เป็นศิลปินของผมถ่ายทอดสิ่งที่ผมได้ฟัง ได้เห็น และได้รู้สึกลงบนกระดาษ”
..........
การ์ตูนของเขาแตกต่างจากรายงานข่าวทั่วๆ ไปอย่างหนึ่งก็คือ สิ่งที่เขาเลือกมาเล่าในการ์ตูน มักเป็นเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ เรื่องราวการดำเนินชีวิตของผู้คน ที่ดูไม่สลักสำคัญอะไร และไม่มีทางที่จะได้เห็นในรายงานข่าวทั่วๆ ไปแน่นอน
...........
“คนอ่านมักจะเข้าถึงความรู้สึกของผู้คนที่อยู่ตรงนั้นได้จากเรื่องเล็กๆ น้อยๆ มากกว่าเรื่องใหญ่ๆ อย่างคนที่ไม่เคยอยู่ในเหตุการณ์อย่างการสังหารหมู่ หรือการระเบิดทำลายล้างด้วยตัวเองนั้น จะไม่สามารถจินตนาการความรู้สึกของคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นได้เลย”
..........
“แต่แค่การที่ใครคนหนึ่งไม่สามารถไปร่วมงานวันแต่งงานของพี่สาวตัวเองได้เพราะเส้นทางถูกปิด หรือการที่เด็กถูกบังคับให้ยืนตากฝน เรื่องแบบนี้คนอ่านจะนึกภาพตาม และเกิดความรู้สึกร่วมไปได้ไม่ยาก มันคือสิ่งเล็กๆ เหล่านี้แหละ ที่ทำให้ทุกอย่างล้มครืน”
[มีต่อในฉบับ]