ศิลปินคู่เกย์แสบกึ๋น!

ศิลปินคู่เกย์แสบกึ๋น!
Michael Elmgreen
Ingmar Dragset
ศิลปะผิดที่ผิดทาง
จากพราด้ากลางทะเลทราย
ถึงโอเรียลเต็ลในหัวลำโพง

ปกติคุณจะเจออะไรบ้างในไนท์คลับเกย์กลางทวีปยุโรป? เหล้า เสียงเพลง แสงไฟวิบวับ กล้ามเนื้อหน้าอกล่ำๆ และ.. ศิลปิน? อะไรนะ คุณไม่เคยเจอเหล่าศิลปินในนั้นเลยหรือ บางทีคุณอาจจะไม่รู้ก็ได้ว่าเขาคือศิลปิน หากคุณไม่ได้สนใจเขา และเขาไม่ได้สนใจคุณ แต่สำหรับศิลปินดูโอชาวเกย์คู่นี้ Michael Elmgreen ชาวเดนมาร์ก และ Ingmar Dragset ชาวนอร์เวย์ สนใจกันและกันตั้งแต่แรกพบในไนท์คลับสำหรับชาวเกย์เมื่อราวๆ 12 ปีที่แล้ว แม้จะต่างที่มาและชนชาติ แต่ด้วยรสนิยม (เอ่อ... ทางศิลปะนะ) ที่ใกล้เคียงกัน ทั้งคู่ก็ได้จับมือกันสร้างงานศิลปะอย่างเอาเป็นเอาตาย
....

งานของพวกเขานั้น มักจะเล่นกับกับเรื่องพื้นที่ และปฏิกิริยาของคนต่อพื้นที่ในลักษณะต่างๆ ที่สำคัญ พวกเขายัง ”ดื้อ” ต่อขนบประเพณีบางอย่างของศิลปะด้วย ซึ่งเขาอ้างถึงความเป็นเด็กเกย์ชานเมือง (ทั้งคู่แนะนำตัวเองอย่างนั้น) ที่ได้อ่านเรื่อง โรมิโอแอนด์จูเลียต แล้วไม่รู้ว่าจะจินตนาการตัวเองเป็นใครดี จะเป็นโรมิโอก็ไม่ใช่ จูเลียตก็ไม่เชิง เลยทำให้พวกเขาอดคิดไม่ได้ว่า สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่มันเป็นจริงๆ หรือว่าเราถูกขนบประเพณีบางอย่างทำให้เราคิดว่าเราต้องเป็น และนั่นแหละคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่า มันน่าจะมีอะไรอีกหลายอย่างที่มันเป็นไปได้ นอกจากสิ่งที่สังคมมันเป็นอยู่ แล้วเขาก็เลือกกรุงเบอร์ลิน อันเป็นเมืองระดับน้องใหม่ของยุโรปที่ยังคงมีพื้นที่สำหรับงานศิลปะแหกคอกของพวกเขา เป็นที่พำนักพักพิง และถึงแม้จะไม่มีใครมีพื้นฐานการเรียนศิลปะอย่างจริงๆ จังๆ แต่งานของทั้งคู่ก็ได้รับความสนใจไปทั่วโลกแล้ว
...
คู่หูเกย์พลัดถิ่นคู่นี้ ออกโรงแนะนำตัวให้ชาวตะวันตกได้รู้จักตั้งแต่ปี 1995 จากผลงานชุด Powerless Structures ก่อนจะพัฒนาต่อเนื่องออกมาจนเป็นซีรีส์งานศิลปะจัดวางและการแสดงต่อเนื่องหลายชุด โดยตระเวนไปจัดแสดง และ “กระทำกับ” สถานที่หลายแห่งในโลก และไม่นานมานี้เอง ทั้งคู่ก็ดอดข้ามทวีปเอางานมาตั้งโชว์ที่เมืองไทยด้วย
...
งานอันโด่งดังชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากที่ทั้งสองได้อ่านงานเขียนของ มิเชล ฟูโกต์ ซึ่งกล่าวถึงเรื่องการควบคุมทางสังคม และไม่เชื่อว่าสิ่งก่อสร้างและสถานที่ต่างๆ จะมีอิทธิพลกับความคิดมนุษย์ได้จริงๆ แต่เชื่อว่ามันอยู่ที่เราจะมองมันอย่างไรมากกว่า ประกอบกับการย้ายถิ่นฐานไปใช้ชีวิตในกรุงเบอร์ลิน ที่พวกเขาบอกว่ามันยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ย่านเก๋ๆ เกิดใหม่ไม่หยุดหย่อน ไม่มีแกลเลอรี่ไหนครองตำแหน่งสุดยอดได้นาน คลับดีๆ ก็เปลี่ยนเวียนกันครองใจขาเที่ยวไปเรื่อย ความรู้สึกว่าสิ่งก่อสร้างในสถานที่หนึ่งๆ มันไม่ได้มีพลังอำนาจในการกำหนดความคิดของมนุษย์ได้นั้นก็ยิ่งชัดเจน
...
ด้วยความคิดของฟูโกต์ และอิทธิพลจากการอาศัยอยู่ในเมืองที่ไม่เคยนิ่งอย่างกรุงเบอร์ลินนี้เอง ทำให้พวกเขายิ่งอยากรู้ว่า จริงแค่ไหน ว่าสถานที่ต่างๆ เช่น คุก โรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ศิลปะ หรือ สวนสาธารณะได้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมทางสังคม แล้วสถานที่ดังกล่าวมันจะเข้ามามีอิทธิพลต่อความคิดของเราได้สักเท่าไหร่ แม้ว่างานของพวกเขาดูสนุกสนาน แต่จริงๆ แล้วมันคือการท้าทาย (อย่างหยิกแกมหยอก) ต่อแนวคิดหรือความเชื่อบางชุด แบบแผนทางสถาปัตยกรรม เพศสภาวะ และโครงสร้างทางสังคม
...
วิธีการ “เล่นสนุก” ของพวกเขาก็คือ การเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อม สลับที่ หรือทำอะไรก็ตามกับบางสิ่ง (อาจเป็นวัตถุ บุคคล หรือสถานที่) ที่มีความหมายอยู่ในตัวมัน ที่จะทำให้เห็นว่าชัดเจนว่าจริงๆ แล้ว สถานที่เหล่านั้น โดยตัวของมันเองไม่ได้มีอำนาจหรือความหมายอะไรมากมายนักหรอก ถ้าเราไม่ได้เป็นคนให้ความหมายกับมัน งานที่พวกเขาสร้างออกมาจึงมักจะเป็นงานที่ดูขัดหูขัดตาและไม่กลมกลืนกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้เทคนิคอันหลากหลายมาก ทั้งการใช้คนจริงๆ มาทำการแสดง (performances) การใช้ศิลปะการจัดวาง (installations) หรือการเข้าไปแทรกแซงความลงตัวบางอย่างของสถานที่นั้นๆ (interventions) จนทำให้เกิดรู้สึกว่ามันมีอะไรทะแม่งๆ อยู่ตรงนั้น และอาจถึงกับต้องร้องถามคนแปลกหน้าที่บังเอิญมาเดินอยู่ข้างๆ ว่า “เฮ้ย! ไอ้นี่มันมาอยู่นี่ได้ยังไง” ซึ่งถ้าทั้งคู่เผอิญผ่านมาได้ยิน ก็คงจะร้องตอบออกไปว่า ...ก็อะไรล่ะ ที่ทำให้คุณคิดว่ามันอยู่ตรงนี้ไม่ได้
....
งานที่โด่งดังที่สุดของพวกเขาก็เห็นจะไม่พ้นนิทรรศการถาวร Prada Marfa (2005) ที่ทั้งสองนำร้านเก๋ไก๋ไฮโซอย่าง Prada พร้อมสินค้าของแท้สุดหรู (ส่วนหนึ่งของบรรดารองเท้า และกระเป๋ามากมายในนั้น ได้รับบริจาคมาจาก Miuccia Prada เองเลยโดยตรง) ถูกล็อกปิดตายไว้ด้านใน แล้วนำไปวางอย่างโดดเดี่ยวอยู่ในแถบทะเลทรายทางตะวันตกของมลรัฐเท็กซัสใกล้ๆเมืองมาร์ฟาอย่างไม่ค่อยมีเหตุผลเท่าไหร่ คล้ายๆ กับพายุทอร์นาโดได้หอบร้าน Prada ทั้งร้านออกมาจากใจกลางกรุงนิวยอร์ก แล้วโยนมันลงมาตั้งไว้เฉยๆ ในดินแดนอันห่างไกล ซึ่งพวกเขาก็ไม่ได้คิดอยากจะให้ใครถือบัตรเครดิตเข้าไปซื้อหา Prada สุดหรูจากเมืองทะเลทรายแห่งนี้หรอก เพราะไม่มีประตูไหนของร้านนี้เปิดได้จริง
..........
ถ้าขับรถผ่านมาบนถนนเส้นนี้ตอนกลางคืน ร้าน Prada ขาวสะอาดที่สร้างจากดินเหนียวนี้ ก็จะปรากฏแก่สายตามาแต่ไกล และให้ความรู้สึกเหมือนกำลังดูภาพเซอร์เรียล ที่มีอะไรขัดกันอยู่ในตัวอย่างแรง ระหว่างธรรมชาติที่ดูเหมือนยังคงไร้ร่องรอยการบุกรุกของมนุษย์ และตัวแทนของโลกทุนนิยมสุดขั้วอย่าง Prada แต่ในทางตรงกันข้ามมันก็สื่อได้อีกทางหนึ่งว่า ทั้งธรรมชาติที่บริสุทธิ์ และแฟชั่นต่างก็เป็นสิ่งที่โลกยุคบริโภคนิยมนี้ถวิลหา
[มีต่อในฉบับ]